วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ศัพท์ OM


Economies of scale (การประหยัดจากขนาดการผลิต)
การลดลงของต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยสืบเนื่องจากการขยายขนาดการผลิตของหน่วยผลิต หรืออีกนัยหนึ่งคือ การที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าการเพิ่มของปัจจัยการผลิต การประหยัดจากขนาดอาจเกิดจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ตัวอย่างการประหยัดจากขนาดที่เกิดจากปัจจัยภายนอก คือ การพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตปัจจัยการผลิตทำให้ราคาของปัจจัยการผลิตลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าที่ใช้ปัจจัยการผลิตเหล่านั้นต่ำลงด้วย ส่วนการประหยัดจากขนาดอันเกิดจากปัจจัยภายในนั้น ยกตัวอย่าง เมื่ออุตสาหกรรมมีการขยายตัวสามารถผลิตสินค้าในปริมาณมากขึ้น จะเกิดการประหยัดต่างๆ เช่น การประหยัดทางด้านแรงงาน การประหยัดทางด้านการจัดการและการตลาด เป็นต้น ในทางตรงข้ามการไม่ประหยัดจากขนาด (diseconomies of scale) อาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน
อนึ่ง การประหยัดจากขนาด แตกต่างจากผลได้ต่อขนาด (returns to scale) การประหยัดจากขนาดเป็นการพิจารณาผลที่เกิดกับต้นทุนเฉลี่ย ซึ่งมีสาเหตุสืบเนื่องจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ส่วนผลได้ต่อขนาดเป็นการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงผลผลิตกับการเปลี่ยนแปลงปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยภายในหน่วยผลิตเท่านั้น
Returns to scale, constants; returns to scale, increasing; returns to scale, decreasing (ผลตอบแทนจากการขยายขนาดการผลิตเแบบคงที่ หรือเพิ่มขึ้นหรือลดลง)
ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของปริมาณผลผลิตเมื่อมีการเพิ่มปัจจัยการผลิตทุกชนิด (รวมทั้งปัจจัยทุน) ในสัดส่วนเดียวกัน ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะในการผลิตระยะยาว (long run) ปริมาณผลผลิตที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นอาจแบ่งเป็น 3 กรณี คือ
(1) ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเดียวกันกับปัจจัยการผลิตที่เพิ่ม เรียกว่า "ผลตอบแทนต่อขนาดคงที่" (constant returns to scale)
(2) ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นในสัดส่วนน้อยกว่าปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้น เรียกว่า "ผลตอบแทนต่อขนาดลดลง" (decreasing returns to scale)
(3) ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นในสัดส่วนมากกว่าปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้น เรียกว่า "ผลตอบแทนต่อขนาดเพิ่มขึ้น" (increasing returns to scale)
อนึ่ง ผลตอบแทนต่อขนาดต่างจากการประหยัดจากขนาด (economies of scale) กล่าวคือ ผลตอบแทนต่อขนาดเกี่ยวข้องกับการเพิ่มปัจจัยการผลิตทุกชนิดในสัดส่วนเดียวกัน ส่วนการประหยัดจากขนาดเกี่ยวข้องทั้งการเพิ่มปัจจัยการผลิต (ไม่จำเป็นต้องในสัดส่วนเดียวกัน) และการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีด้านต่างๆ ด้วย
Globalization (โลกาภิวัตน์)
โลกอันมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล แต่ละส่วนอยู่ห่างกันด้วยพื้นที่ (เทศะ หรือ space) แตกต่างกันด้วยเวลา (กาล หรือ time) สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างใกล้ชิดเสมือนหนึ่งอยู่ใกล้กัน โดยผ่านระบบสื่อสารที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพด้วยดาวเทียมและใยแก้วนำแสง กระบวนการโลกาภิวัตน์นี้ทำให้อิทธิพลจากที่หนึ่งแพร่ไปสู่ส่วนอื่นของโลกในอัตราความเร็วสูง ในด้านเศรษฐกิจ ข่าวสาร การเมือง และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่อิทธิพลจากประเทศที่เข้มแข็งไปสู่ประเทศที่อ่อนแอ

Mass production (การผลิตจำนวนมาก)
การผลิตจำนวนมากเกิดจากการใช้วิทยาการด้านการจัดการมาใช้ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยแบ่งกระบวนการผลิตสินค้าออกเป็นขั้นตอนต่างๆ กำหนดมาตรฐานของแต่ละขั้นตอน และแบ่งกลุ่มแรงงานให้แต่ละกลุ่มทำเฉพาะขั้นตอนนั้นๆ
Factor of production (ปัจจัยการผลิต)
ทรัพยากรที่หน่วยผลิตนำมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่
ที่ดิน มีความหมายรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิด อาทิ น้ำ ดินฟ้าอากาศ แร่ธาตุ ป่าไม้ ฯลฯ
แรงงาน หมายถึงทรัพยากรมนุษย์ที่ทำงานและก่อให้เกิดสินค้าและบริการ ซึ่งรวมทั้งแรงงานที่ใช้กำลังกายและ/หรือกำลังความคิด
ทุน หมายถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องจัก อุปกรณ์ทุ่นแรง โรงงาน สิ่งก่อสร้าง และสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น
ผู้ประกอบการ คือผู้ที่ตัดสินใจรวบรวมปัจจัยการผลิตต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อใช้ผลิตสินค้า และยังเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตนั้น
เนื่องจากปัจจัยการผลิตมีอยู่อย่างจำกัด จึงมีสิ่งตอบแทนให้กับการใช้บริการของปัจจัยเหล่านั้น ที่ดินได้ผลตอบแทนในรูปของค่าเช่า แรงงานได้รับค่าจ้าง ทุนได้รับดอกเบี้ย และผู้ประกอบการได้กำไร
Allocation of resources (การจัดสรรทรัพยากร)
การโยกย้ายทรัพยากรจากการผลิตหนึ่งไปสู่อีกการผลิตหนึ่ง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด นอกจากนี้ยังหมายถึงการโยกย้ายงบประมาณจากการบริโภคสินค้าชนิดหนึ่งไปสู่การบริโภคสินค้าอีกชนิดหนึ่ง เพื่อให้ได้ความพอใจสูงสุด นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเชื่อว่า การจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้นต้องผ่านระบบราคา ทรัพยากรจะเคลื่อนย้ายจากผู้ให้ค่าตอบแทนต่ำกว่าไปยังผู้ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า ตลาดผลผลิตและตลาดปัจจัยการผลิตจะต้องมีการแข่งขันสมบูรณ์
เงื่อนไขที่แสดงถึงการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด คือ การที่ผลผลิตส่วนเพิ่ม (marginal product) จากการใช้ทรัพยากรในการผลิตสินค้าต่างๆ มีค่าเท่ากัน ในทางตรงกันข้ามตลาดผลผลิตและตลาดปัจจัยการผลิตที่มีการผูกขาด จะทำให้การใช้ปัจจัยการผลิตไม่บรรลุประสิทธิภาพสูงสุด เพราะผลผลิตส่วนเพิ่มดังกล่าวมีค่าไม่เท่ากัน ซึ่งเกิดจากสาเหตุต่างๆ อาทิ การขาดสารสนเทศ การใช้อำนาจต่อรองในทางไม่เหมาะสมของสหภาพแรงงาน ลิขสิทธิ์ และปัจจัยอื่นทางด้านสังคม





Acquisition (การเข้าซื้อกิจการ)
การที่บริษัทหนึ่งได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ หรือเข้าควบคุมบริษัทอื่นบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากการควบรวมธุรกิจ (Merger) คือการเข้าซื้อกิจการไม่จำเป็นต้องเป็นการรวมบริษัท (Amalgamation) หรือการควบรวมธุรกิจ (Merger) แต่เป็นการรวมสินทรัพย์ของทุกบริษัทจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ (Consolidation) แม้ว่าการเข้าซื้อกิจการจะมีการเปลี่ยนการเข้าควบคุมโดยสิ้นเชิง แต่บริษัทที่เกี่ยวข้องอาจจะยังดำเนินการเป็นอิสระอยู่ แม้กระนั้นการควบคุมบริษัทร่วมกันเพื่อแสวงหากำไรให้ได้มากที่สุด และเป็นเรื่องที่องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันให้ความสนใจ
Accounts Receivable (บัญชีลูกหนี้การค้า)
คือ จำนวนเงินที่ลูกค้าค้างชำระค่าสินค้าหรือบริการกับองค์กรธุรกิจ บัญชีลูกหนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการส่งสินค้าให้กับลูกค้าก่อนแล้วเรียกเก็บเงินทีหลัง วิธีนี้นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการธุรกิจ โดยปกติมีระยะเวลาการให้ชำระเงินตั้งแต่ 10 วัน ไปจนถึง 90 วันก็มี แล้วแต่ชนิดและขนาดของธุรกิจนั้นๆ
Accounts Payable (บัญชีเจ้าหนี้การค้า)
คือ บัญชีหนี้สินหรือรายจ่ายขององค์กรธุรกิจ ตามปกติบัญชีเจ้าหนี้การค้าเกิดจากการซื้อสินค้าและบริการประจำวันขององค์กรธุรกิจ ที่ไม่จำเป็นต้องชำระเงินทันที่ได้รับสินค้า แต่อาจชำระภายหลังจากที่ได้รับสินค้าแล้วเป็นเวลา 10-90 วัน แล้วแต่กรณี
Amortization of debt (การผ่อนชำระหนี้)
การชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยโดยแบ่งเป็นงวดๆ ปกติการผ่อนชำระหนี้ใช้สำหรับสินเชื่อที่มีระยะชำระคืนนานกว่า 1 ปี และมีมูลค่าหนี้สูงเมื่อเทียบกับฐานะการเงินของลูกหนี้ การชำระหนี้เป็นงวดนิยมใช้ในกรณีสินเชื่อเพื่อการเคหะ ซึ่งมีระยะการชำระหนี้นานนับสิบๆ ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น